Wednesday, June 30, 2010

การทำลำไยอบแห้งสีทอง และ อบแห้งทั้งเปลือก



ส่วนการแปรรูป"ลำไยอบแห้งเนื้อ" หรือ"ลำไยอบแห้งสีทอง"นั้น ขั้นแรกเลยต้องนำ ลำไยสด มาคัดกรองด้วยเครื่องร่อนลำไยสด เลือกลำไยสดที่สุกพอดี เพื่อให้ได้ลำไยอบแห้งสีทองที่ได้คุณภาพ ทั้งในเรื่องความหวาน และความหอม น้ำหนักหลังอบแห้งดี ซึ่งเทคนิคการคัดเลือกลำไยสดจะขออธิบายในบทความต่อไป หลังจากนั้นนำลำไยสดที่ได้ มาคว้านเมล็ดออกและแกะเปลือก ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องระวังไม่ให้เนื้อลำไยฉีกขาด และไม่ให้เหลือเมล็ดติดกับเนื้อลำไย แล้วจึงนำมาล้างน้ำเพื่อทำความสะอาด นำแต่ละเม็ดมาเรียงบนกระจาดไม้ไผ่ โดยการคว่ำ่ส่วนหัวลง ขั้นตอนนี้จะมีผลในเรื่องการคงรูปของลูกลำไยอบแห้งสีทอง ถ้าวางไม่ดี จะทำให้ได้รูปร่างไม่สวย เสร็จแล้วอบด้วยอุณหภูมิ 60 - 80 องศาเซลเซียส ประมาณ 12 - 15 ชั่วโมง ซึ่งต้องคอยตรวจสอบลำไยอบแห้งสีทองเป็นระยะ เพื่อเลื่อนกระจาดไม้ไผ่อันที่อบก่อนไปชั้นที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนได้ที จึงนำมาออกจากเตาอบ ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น แล้วจึงบรรจุลงถุงพลาสติก ถุงละ 5 กิโลกรัม นำไปบรรจุลงในกล่องกระดาษ กล่องละ 2 ถุง ปิดผนึก แล้วนำเข้าห้องเย็น เพื่อคงสี และกลิ่นไว้เหมือนอบออกจากเตาใหม่ ๆ ลำไยอบแห้ง ขายลำไยอบแห้ง ลำไย

การแปรรูปลำไยอบแห้งทั้งเปลือก เริ่มจากคัดแยกขนาดลำไยสด ด้วยเครื่องร่อนลำไยสด จัดวางลำไยสดทั้งเปลือก บนตะแกรงโปร่งในเตาอบ ลำไยลูกใหญ่เกรด A จะวางชั้นบนสุด เกรด B ชั้นกลาง และ เกรด C ชั้นล่างสุด อบด้วยอุณหภูมิ ประมาณ 60 องศาเซลเซียส นาน 12 ชั่วโมง จึงกลับลำไย และอบต่อด้วยอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส อีก 12 ชั่วโมง กลับลำไยอีกครั้งหนึ่ง และอบต่อด้วยอุณหภูมิ ค0 องศาเซลเซียส อีก 12 ชั่วโมง กลับลำไยครั้งสุดท้าย และอบต่อด้วยอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส อีก 12 ชั่วโมง รวมเวลาที่ใช้ทั้งหมด 48 ชั่วโมง จึงจะได้ลำไยอบแห้ง รอจนเย็น แล้วจึงบรรจุด้วยถุงพลาสติก และใส่ลงใน
กล่องกระดาษมาตรฐานอีกที

ประโยชน์ลำไยนั้นมีมากมาย อย่างที่คุณนึกไม่ถึงเลยล่ะค่ะ

"ลำไยอบแห้ง" ถือเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าอย่างมหัศจรรย์ ไม่เพียงแต่อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการจากสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นวิตามิน เกลือแร่ กรด หลายชนิดที่ร่างหารต้องการ เช่น กรดกลูโคนิค กรดมาลิก กรดซิตริก ฯลฯ รวมทั้งมีกรดอะมิโน อีก 9 ชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และแร่ธาตุอีกหลาย ชนิดที่ดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ทองแดง สังกะสี แมงกานีส เป็นต้น นอกจากนี้ลำไยยังมีคุณค่าทางการแพทย์และเภสัชอีกด้วย รสหวานจากน้ำตาลในลำไยนั้นย่อยง่าย และมีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย ประกอบด้วยน้ำตาล 3 ชนิด คือ กลูโคส ฟรุกโตส และซูโครสซึ่งเป็นน้ำตาลที่ร่างการต้องการทั้งสิ้น

ทางการแพทย์แผนโบราณของจีนนั้นได้นำลำไยอบแห้งแห้งเข้ามาเป็นส่วนผสมหนึ่งของยาจีน ซึ่งลำไยอบแห้งมีสรรพคุณใช้บำรุง เลือด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการไหลเวียนของโลหิต

นอกจากนี้ลำไย ยังสามารถป้องกันเชื้อโรคบางชนิดได้ เป็นยาบำรุงร่างกาย ช่วยบำรุงกำลัง ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และช่วยบำรุงกำลังของสตรี ภายหลังการคลอด ช่วยบำรุงประสาท ในคนที่เป็นโรคประสาทอ่อน ๆ นอนไมหลับ ใจสั่น จะช่วยให้หลับสบาย ช่วยระงับประสาทที่อ่อนเพลียจากการตรากตรำทำงานหนัก ขี้ลืม ช่วยลดความเครียดและแก้อาการเครียด กระวนกระวาย บำรุงประสาทตา บำรุงผิวพรรณ บำรุงม้าม บำรุง หัวใจ ช่วยย่อยอาหาร เป็นต้น ชาวจีนโบราณนิยมกินลำไยอบแห้ง หรือต้มดื่มน้ำลำไยอุ่น ๆ บ้างก็เอามาปรุงเป็นอาหาร หั่นฝอยผัดกับข้าวก็ได้ หรือจะเอามา ต้มน้ำแกงก็มีประโยชน์ต่อผิวพรรณและสุขภาพเช่นกัน

สำหรับประเทศไทย จากผลการวิจัยลำไยอบแห้งจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย รศ.ดร.อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ พบว่าในลำไยแห้งมีฤทธิ์ยับยั้งสารก่อมะเร็ง ช่วยลดอนุมูลอิสระในเม็ดเลือดขาว และในอนาคตอาจนำมาใช้ร่วมกับการรักษามะเร็งเพราะให้ผลข้างเคียงน้อยลงหรือ ไม่มีเลย ทำให้ลดขนาดการใช้ยาหรือเคมีบำบัดลงที่มีผลข้างเคียงมากกว่า ทั้งยังยืนยันสรรพคุณประโยชน์ของลำไยว่ามีสารออกฤทธิ์เหนี่ยวนำเซลล์มะเร็ง ลำไส้ใหญ่ และ เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวให้ตาย สารที่ยับยั้งความเป็นพิษของสารก่อมะเร็งทางเดินอาหาร สารที่ออกฤทธิ์ลดการเสื่อมสลายของข้อเข่า

ผลการวิจัยล่าสุด พบว่าลำไยอบแห้งสามารถออกฤทธิ์ทำลายและต่อต้านอนุมูลอิสระได้อย่างมี ประสิทธิภาพ ทั้งยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีผิวเมลานิน ได้ดีกว่าสารเคมีที่ใช้ใน เครื่องสำอางปัจจุบัน

No comments:

Post a Comment